สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ


* ศัพท์ว่า ชาดกและบารมี มีความหมายศัพท์จากธาตุ (รากศัพท์) และปัจจัยอย่างไร?

   * เมื่อทุกส่วนสมาสเป็นศัพท์แล้ว จะมีความหมายเต็มว่าอย่างไร?

   * จากความหมายเต็มของคำศัพท์ จะเป็นข้อกำหนดให้พึงรู้อะไรในคัมภีร์ชาดกบ้าง?

   ศัพท์ว่าชาดก สำเร็จมาจาก ชนะธาตุ(เกิด) แปลงชนะธาตุเป็นชา ลง ต ปัจจัยในกิริยากิตก์(แล้ว) ลง ณฺวุ ปัจจัย(ผู้)ในนามกิตก์ แปลง ณฺวุ เป็น อกะ ได้รูปศัพท์ ว่า ชาตกะ(ชาดก) แปลว่า ผู้เกิดแล้ว

   เมื่อทุกส่วนสมาสกันเป็นคำศัพท์แล้ว(ชา+ต+อกะ) จึงมีความหมายเต็มว่า พระโพธิสัตว์ผู้เกิดมาบำเพ็ญบารมีเต็มแล้ว

   ศัพท์ว่า ปาระ สำเร็จมาจาก ปา ธาตุ ในอรรถ ปาปุณนะ(บรรลุ)+อาระปัจจัย(สามารถ) ลบสระหน้า มีรูลปวิเคราะห์(นิยาม)ว่า สํสารทุกขํ สเมตุํ ปาเรตีติ ปารํ แปลว่าฝั่งตรงข้ามวัฏฏสงสาร คือ นิพพาน สามารถทำให้บรรลุความสงบทุกข์ในสงสาร(การเวี่ยนว่ายตายเกิด)ได้

   ศัพท์ว่า บารมี สำเร็จมาจาก ปารปุพโพ(ศัพท์ปาระข้างหน้า+อิ ธาตุ ในอรรถว่า คติยํ(เป็นไป)+มฺอาคม+อีปัจจัยอิตถีลิงค์ ได้รูปศัพท์ว่า ปารมี มีรูปวิเคราะห์(นิยาม)ว่า ปรมํ ปาเปตีติ ปารมี แปลว่า ปฏิปทาที่เหตุให้ผู้ปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือ นิพพาน เรียกว่าบารมี มี ทานบารมี เป็นต้น

   ในบรรดานวังคสัตถุศาสน์(คำสอนมีองค์ 9) มี สุตตะ คือคำสอนที่เป็นสูตรมีชื่อเรียก เช่น มงคลสูตร ธรรมที่นับเป็นข้อในพระวินัย มี อุภโตวิภังค์ และในนิทเทส, เคยยะ คือ คำสอนที่มีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน ได้แก่คำสอนที่มีคาถาผสมทั้งหมด, เวยยากรณะ คือ คำสอนที่ไม่มีร้อยกรอง(ไม่มีคาถา)เช่นในอภิธรรมปิฏก และพุทธพจน์ที่ไม่ได้จัดเข้าองค์ 8, คาถา คือ คำสอนที่เป็นคาถา(ร้อยกรอง)ล้วน เช่น ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา เป็นต้น, อุทาน คือ คำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงเปร่งเป็นคำพูดออกมาเป็นพระคาถาด้วยโสมนัสญาณ มี 82 สูตร, อิติวุตตกะ คือ คำสอนที่ขึ้นต้นว่า ข้อนี้สมจริงดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ มี 110 สูตร, ชาตกะ.(ชาดก) คือ คำสอนที่เรื่องการบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า 550 เรื่อง (นับโดยคาถาที่ซ้ำกัน 547 เรื่อง), อัพภูตธรรม คือ คำสอนที่เป็นเรื่องอัศจรรย์ทั้งหมด, เวทัลละ คือ คำสอนทีอาศัยการถามตอบแล้วทำให้เข้าใจขึ้น จึงเกิดความชื่นชอบการถามตอบนั้น(วิ. เวทํ  นิสฺสิตํ เวทลฺลํ ลปัจฺฺ นิสิตสิตตัท, แปลงเป็น ลฺล กัจฯ 358)

   คัมภีร์ที่สอนเป็นคาถา(องค์ที่ 4) ก็เพื่อความละเอียด กระชับ รัดกุม แห่งคติธรรม มีด้วยกันหลายคัมภีร์ เป็นต้นว่า คัมภีร์ธรรมบท คัมภีร์อุทาน คัมภีร์อิติวุตตกะ คัมภีร์วิมานวัตถุ คัมภีร์เปตวัตถุ คัมภีร์เถระ-เถรีคาถา คัมภีร์อปาทาน และคัมภีร์ชาดก ซึ่งเฉพาะคัมภีร์ชาดกเท่านั้นที่มีสถานะเป็นทั้งองค์คาถาเป็นทั้งองค์ชาดก เพื่อความละเอียด กระชับ รัดกุม แห่งเนื้อหาที่ครบบริบูรณ์ ดังนี้

๑. ระบุว่า เป็นการบำเพ็ญบารมีของสุเมธดาบสซึ่งเป็นนิยตโพธิสัตว์ที่เที่ยงแท้ต่อการบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าชื่อว่าโคตมะ(โคดม) ในกาลสี่อสงไขยแสนกัป ที่ได้รับพุทธยากรณ์ตรัสรับรองจากพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกร เหตุเพราะสุเมธดาบสมีสโมธานธรรม 8 ประการครบ คือ

   1) มนุสฺสตฺตํ ความเป็นมนุษย์ เพราะทนต่อความยากลำบากกว่า นาค  ครุฑ เทวดา

   2) ลิงฺคสมฺปตฺติ ความสมบูรณ์ด้วยบุรุษเพศที่แข็งแรงกว่าสตรีเพศ และบัณเฑาะว์ 

   3) เหตุ เพรียบพร้อมด้วยเหตุที่สามารถสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้นได้

   4) สตถุทสฺสนํ การได้พบเห็นพระศาสดา เพื่อตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าขณะมีพระชนม์อยู่เท่านั้นที่มีพลานุภาพพอ ขณะปรินิพพานแล้ว หรือที่เจดีย์ ที่โคนต้นโพธิ์ที่ตรัสรู้ ที่เสด็จดับขันธปรินิพพานก็ตามพลานุภาพไม่พอ

   5) ปพฺพชชา ผู้ตั้งความปรารถนาต้องเป็นนักบวชด้วย

   6) คุณสมฺปตฺติ นักบวชต้องถึงพร้อมแห่งคุณ คือ ต้องได้ สมาบัติ 8 และ อภิญญา 5

   7) อธิกาโร ผู้ได้ สมาบัติ 8 อภิญญา 5 ต้องกระทำการอันยิ่งใหญ่ได้ มีการพลีชีพถวายเป็นพุทธบูขาได้เป็นต้น

   8) ฉนฺทตา ผู้ทำอธิการได้ฉันทะในการปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าต้องหนักแน่นไม่หวั่นไหว

   การชุมนุมพร้อมเพรียงกัน แห่งธรรม 8 ประการ (สโมธานธรรม จึงต้องมีครบ ขาดข้อใดข้อหนึ่ง หรือมีเพียงข้อเดียว เช่น ลัทธิตัดศรีษะบูชาที่เป็นข่าวเกรียวกราว เมื่อไม่นาน จึงเหลวเปล่าหาสาระไม่ได้

๒. ระบุกำหนดว่า เป็นช่วงกาลได้ 3 กาล คือ

       1) ทูเรนิทาน เป็นช่วงเรื่องราวที่ยาวไกล เริ่มตั้งแต่ปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า แทบเบื้องพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้าทีปังกร ขณะทอดกายเป็นสะพานให้พระพุทธเจ้าทีปังกรพร้อมพระสาวกข้ามคลอง แล้วเริ่มบำเพ็ญบารมีเรื่อยมา จนถึงจุติจากอัตภาพที่เป็นพระเวสสันดร แล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

      2) อวิทูเรนิทาน เป็นช่วงเรื่องราวที่สั้นใกล้ เริ่มตั้งแต่พระโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต จนถึงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ณ ควงไม้ไพธิ์

      3) สันติเกนิทาน เป็นช่วงเวลาที่มีเรื่องราวเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่ตรัสรู้แล้ว จนถึงปรินิพพาน การแสดงธรรมที่พาดพิงชาดก และการประชุมชาดกว่า ใคร คณะใดเกิดร่วมในชาดกนั้นบ้าง

๓. พระโพธิสัตว์ประมวลบารมี ดังนี้

     1. ลักษณธรรมที่เป็นบารมีได้

      - มีการอนุเคราะห์​ผู้อื่น​ เป็นลักษณะ

      - มีการอุปการะผู้อื่นโดยไม่หวั่นไหว​ เป็นกิจ

      - มีการแสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์​แก่ตนและผู้อื่น​ เป็นผลปรากฏ

      - มีความกรุณา​ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น

   2. ลักษณะ ประเภทบารมี 10

       1) ทานบารมี

         - มีการบริจาค​ เป็นลักษณะ

         - มีการกำจัดความโลภ​ เป็นกิจ

         - มีการไม่ติดข้อง​(ไม่เสียดาย)​ เป็นผลปรากฏ

         - มีวัตถุ​ที่ควรบริจาค​ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น

      2) ศีลบารมี

         - มีการสมาทานที่ตั้งมั่น(สีลนะ)​ต่อสุจริตธรรม​  เป็นลักษณะ

         - มีการกำจัดทุจริตธรรม​ เป็นกิจ

         - มีความสะอาดจากทุจริตธรรม​ เป็นผลปรากฏ

         - มีหิริและโอตตัปปะ​ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น

     3) เนกขัมมบารมี

         - มีการหลีกออกจากกาม​ เป็นลักษณะ

         - มีการเห็นโทษของกาม​ เป็นกิจ

         - มีการเว้นห่างจากโทษของกาม​ เป็นผลปรากฏ

         - มีความสลดสังเวชใจ​ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น

     4) ปัญญาบารมี

         - มีการรู้สภาวธรรม​ตามที่เป็นจริง(ไม่ผิดพลาดดุจนักแม่นธนูยิงไม่ไม่พลาดเป้า)​เป็นลักษณะ

         - มีการกำจัดการกระทำที่หลงงมงาย​(ดุจแสงประทีปกำจัดความมืด)​ เป็นกิจ

         - มีความไม่หลงประเด็น(ดุจคนนำทางนำพาไปถูกทาง)​ เป็นผลปรากฏ

         - มีสมาธิ​ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น

     5) วิริยบารมี

         - มีความอุตสาหะ​ เป็นลักษณะ

         - มีการอุปถัมภ์​  เป็นกิจ

         - มีการไม่จมปัก​ เป็นผลปรากฏ

         - มีวัตถุปรารภความเพียร​ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น

     6) ขันติบารมี

         - มีการยอมรับความเป็นจริงได้(อธิวาสนะ)​ เป็นลักษณะ

         - มีการกำจัดความขัดเคือง​ใจ​ เป็นกิจ

         - มีความไม่โกรธ​ เป็นผลปรากฏ

         - มีความเข้าใจสภาพความเป็นจริงตามที่ปรากฏ​ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น

     7) สัจจบารมี

         - มีการกล่าวตรงกับความเป็นจริง​ เป็นลักษณะ

         - มีการกล่าวอ้างความเป็นจริง​ เป็นกิจ

         - มีความเชื่อมั่นความเป็นจริง​ เป็นผลปรากฏ

         - มีความตั่งมั่นต่อความเป็นจริง​ เป็นเหตุใกล้​ให้เกิดขึ้น

     8) อธิฏฐานบารมี

      - มีมุ่งมั่นโพธิสมภาร​ เป็นลักษณะ

      - มีการกำจัดธรรมทีครอบงำโพธิสมภาร​ เป็นกิจ

      - มีความไม่หวั่นไหวธรรมที่ครอบงำโพธิสมภาร​ เป็นผลปรากฏ

      - มีโพธิสมภาร​ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น

     9) เมตตาบารมี

      - มี​ปรารถนา​ดี​ เป็นลักษณะ

      - มีการกำจัดความปองร้าย​ เป็นกิจ

      - มีความอ่อนโยนนิ่มนวล​ เป็นผลปรากฏ

      - มีสัตว์บุคคลที่น่ารักน่าเอ็นดู​ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น

    10) อุเบกขาบารมี

      - มีความเป็นกลาง​ เป็นลักษณะ

      - มีการกำจัดความเอนเอียง​ เป็นกิจ

      - มีความปราศจาก​ความยินดียินร้าย​ เป็นผลปรากฏ

      - มีการ​พิจารณา​ถึงความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน​ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น

๔. พระโพธิสัตว์ บารมีเป็น 30 ทัศ  ตามความยากง่าย โดยอาศัยวัตถุสิ่งของที่สัตว์หวงยึดติด มี 3 ระดับชั้น คือ

      1) บารมี ระดับชั้นปกติทั่วไป ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุสิ่งของนอกกาย×บารมี 10 = บารมีระดับชั้นปกติทั่วไป มีได้ 10

     2) อุปบารมี ระดับชั้นที่ยากขึ้น ที่เกี่ยวข้องกับอวัยยวะ และวัตถุสิ่งของที่ผูกพันกับตนมีญาติเป็นต้น×บารมี 10 = บารมีระดับชั้นที่ยากขึ้นมีได้ 10

     3) ปรมัตถบารมี ระดับชั้นยากสูงสุด ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต×บารมี 10 = บารมีระดับชั้นยากสูงสุดมีได้ 10

   รวมบารมีได้ 30 ทัศ คือ ปกติบารมี 10 อุปบารมี 10 ปรมัตถบารมี 10

๕. พระโพธิสัตว์ ประมวลความแก่กล้าแห่งบารมีที่ถึงความเป็นเลิศจากคุณธรรม 10 ประการ และจากการอุปการกันแห่งบารมี ที่ถึงความมีพลานุภาพ ดังนี้

     1. คุณธรรม 10 ประการที่ทำให้บารมีแก่กล้าถึงความเป็นเลิศ คือ

         1) อเคธตา ความไม่ติดข้อง

        2) นิราลยตา ความปราศจากการข้องแวะ

        3) จาโค ความสละได้

        4) ปหานํ ความเลิกละเสียได้

        5) อปุนราวตฺติตา ความหนักแน่นไม่เปลี่ยนใจกลับกลอก

        6) สุขุมตา ความสุขุมรอบคอบ

        7) มหนฺตตา ความเป็นผู้ประเสริฐด้วยศีลสมาธิปัญญา

        8) ทุรานุโพธตา ความเป็นผู้รอบรู้ที่หาผู้รอบรู้เท่าทันได้ยาก

        9) ทุลฺลภตา ความเป็นบุคคลที่หาได้ยาก

        10) อสทิสตา ความเป็นบุคคลผู้หาบุคคลที่เสมอเหมือนไม่ได้

     2. การที่บารมีอุปการะกันเองที่ถึงความมีพลานุภาพ คือ

        โดยการอุปการะกัน ส่งผลให้มีอานืสงส์มาก และการสมาทานถือเอาก็สะดวกขึ้น เช่น

   ทาน เมื่อศีลอุปการะแล้ว ย่อมมีอานิสงส์มาก และการสมาทานถือเอาก็สะดวกยิ่งขึ้น เช่น การถวายถัตตาหารแด่พระที่เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร จนฝึกเป็นอุปนิสัยได้ จึงทรงเทศนาทานเป็นอันดับที่ 1

   ศีล เมื่อเนกขัมมะอุปการะแล้ว ย่อมมีอานิสงส์มาก และการสมาทานถือเอาก็สะดวกยิ่งขึ้น เช่น การประพฤติตนออกจากกามจนฝึกเป็นอุปนิสัยได้ จึงทรงเทศนาศีลเป็นอันดับที่ 2

   เนกขัมมะ เมื่อปัญญาอุปการะแล้ว ย่อมมีอานิสงส์

 มาก และการสมาทานถือเอาก็สะดวกยิ่งขึ้น เช่นการไม่ประพฤติตนที่เคร่งด้วยอัตตกิลมัตถานุโยค และหย่อนยานด้วยกามสุขัลลิกานุโยค จนฝึกเป็นอุปนิสัยได้ จึงทรงเทศนาเนกขัมมะเป็นอันดับที่ 3

   ปัญญา เมื่อวิริยะอุปการะแล้ว ย่อมมีอานิสงส์มาก และการสมาทานถือเอาก็สะดวกยิ่งขึ้น เช่น ชาคริยานุโยค คือ ความตื่นตัวขวนขวายเจริญภาวนา จนฝึกเป็นอุปนิสัยได้ จึงทรงเทศนาปัญญาเป็นอันดับที่ 4

   วิริยะ เมื่อขันติอุปการะแล้ว ย่อมมีอานิสงส์มาก และการสมาทานถือเอาก็สะดวดวกขึ้น เช่น ทมถะ คือ ความสงบกายและใจ จนฝึกเป็นอุปนิสัยได้ จึงทรงเทศนาวิริยะเป็นอันดับที่ 5

   ขันติ เมื่อสัจจะอุปการะแล้ว ย่อมมีอานิสงส์มาก และการสมาทานถือเอาก็สะดวกยิ่งขึ้น เช่น อธิวาสนขันตื คือ การยอมรับความเป็นจริงได้ใจไม่เดือดร้อนขุ่นเคือง ฝึกจนเป็นอุปนิสัยได้ จึงทรงเทศนาขันติเป็นอันดับที่ 6

   สัจจะ เมื่ออธิฏฐานอุปการะแล้ว ย่อมมีอานิสงส์ มาก และการสมาทานถือเอาก็สะดวกยิ่งขึ้น เช่น  อุปักกมะ คือความมุ่งมั่นแน่วแน่ จึงทรงเทศนาสัจจะเป็นอันดับที่ 7

   อธิฏฐาน เมื่อเมตตาอุปการะแล้ว ย่อมมีอานิสงส์มาก และการสมาทานถือเอาก็สะดวกยิ่งขึ้น เช่น หิตะ คือ ความเกื้อกูลประโยชน์ จึงทรงเทศนาอธิฏฐานเป็นอันดับที่ 8

   เมตตา เมื่ออุเบกขาอุปการะแล้ว ย่อมมีอานิสงส์มาก และการสมาทานถือเอาก็สะดวกยิ่งขึ้น เช่น อตุณหีภาวะ ความไม่นิ่งเฉยต่อการโปรดสัตว์ จึงทรงเทศนาเมตตาเป็นอันดับที่ 9

    อุเบกขา เมื่อทานอุปการะแล้ว ย่อมมีอานิสงส์ และการสมาทานถือเอาก็สะดวกยิ่งขึ้น เช่น ความใส่ใจที่ให้ความรู้(ธรรม)แก่สัตว์ทั้งหลาย จึงทรงเทศนาอุเบกขาเป็นอันดับที่ 10

    ลำดับแห่งการเทศนาบารมี 10 ประการพร้อมทั้งองค์คุณอันเกื้อให้การสมาทานถือเอาได้สะดวกขึ้นจึงมีด้วยประการละฉะนี้แล

๖. พระโพธิสัตว์ประมวล ฐานะที่เป็นเหตุ(อภิธาน 91) อันเป็นที่ตั้ง(ฐาน)แห่งผล(อภิธาน 633) 2 ประการ คือ

      1) ฐานะที่ถูกต้องชอบธรรม ย่อมเป็นที่ตั้ง(ฐาน)แห่งผลที่เจริญ

      2) ฐานะที่ไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรม ย่อมเป็นที่ตั้ง(ฐาน)แห่งผลที่เสื่อมโทรม

   ดังนั้น คัมภีร์ชาดกจึงเป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยการสร้างเหตุ(ฐานะ) คือการบำเพ็ญบารมี เพื่อการหลุดพ้นจากวัฏฏทุกข์(การเวี่ยนว่ายตายเกิด)นั่นเอง หาใช่การฟังเรื่องนิทานชาดกเพื่อความบันเทิงไม่


[full-post]

ศัพท์ว่า ชาดกและบารมี

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.