สมเกียรติ พลเดชอุดมคุณ


อุตริมนุสธรรม

   ถาม อยากทราบว่า อุตริมนุสธรรม คืออะไร เหตุไรผู้ที่มีอุตริมนุสธรรม จึงบอก ใครไม่ได้

   ตอบ อุตริมนุสธรรม มาจากบาลีว่า อุตฺตริมนุสฺสธมุม แปลว่า ธรรมที่ยวดยิ่งของมนุษย์ ในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒ จตุตถปาราชิกกัณฑ์ ข้อ ๒๓๖ แสดง อุตริมนุสธรรมไว้ ๑๐ อย่าง คือ

   ๑. ฌาน ๒. วิโมกข์ ๓. สมาธิ ๔. สมาบัติ ๕. ญาณทัสสนะ ๖. มรรคภาวนา ๗. การทำให้แจ้งซึ่งผล ๘. การละกิเลส ๙. ความเปิดจิต ๑๐. ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า

   แล้วขยายความไว้ว่า

   ชื่อว่า ฌาน ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน 

   ชื่อว่า วิโมกข์ ได้แก่ สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์    

   ชื่อว่า สมาธิ ได้แก่สุญญตสมาธิ อนิมิตตสมาธิ อัปปณิหิตสมาธิ 

   ชื่อว่า สมาบัติ ได้แก่สุญญตสมาบัติ อนิมิตตสมาบัติ อัปปณิหิตสมาบัติ 

   ชื่อว่า ญาณ ได้แก่ วิชชา ๓ 

   ชื่อว่า มรรคภาวนา ได้แก่สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘

   ชื่อว่า การทำให้แจ้งซึ่งผล ได้แก่ การทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล การทำให้แจ้ง ซึ่งสกทาคามิผล การทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล การทำให้แจ้งซึ่งอรหัตผล

   ชื่อว่า การละกิเลส ได้แก่ การละราคะ การละโทสะ การละโมหะ    

   เชื่อว่า ความเปิดจิต ได้แก่ ความเปิดจิตจากราคะ ความเปิดจิตจากโทสะ ความ เปิดจิตจากโมหะ

   ชื่อว่า ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่า ได้แก่ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยปฐมฌาน ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยทุติยฌาน ความยินดียิ่งในเรือนอันว่างเปล่าด้วยตติยฌาน ความยินดียิ่งในเรือนธันว่างเปล่าด้วยจตุตถฌาย

   โดยปกติแล้ว ท่านกําหนดว่า

   ศีล ๕ เป็นมนุสธรรม คือธรรมของมนุษย์อย่างต่ำ

   กุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นมนุสธรรม คือธรรมของมนุษย์อย่างสูง

   อุตริมนุสธรรม จึงเป็นธรรมที่สูงกว่าธรรมของมนุษย์โดยปกติ 

   ว่าโดยปรมัตถ์

   มนุสธรรม ได้แก่ มหากุศล

   อุตริมนุสธรรม ได้แก่ มหัคคตกุศล (คือรูปฌานและอรูปฌาน) และอริยมรรค อริยผล

   เพราะฉะนั้น อุตริมนุสธรรม จึงมีอยู่จริง สำหรับท่านผู้ได้ฌานและพระอริยเจ้า (จากสมันตปาสาทิกา อธิบายจตุตถปาราชิกกัณฑ์) 

   เรื่องของอุตริมนุสธรรมนี้ มักจะเกี่ยวข้องกับภิกษุโดยตรง กล่าวคือ ถ้าภิกษุอวด อุตริมนุสธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๐ อย่าง ที่กล่าวแล้ว มีฌาน เป็นต้น โดยที่ตนไม่มีอยู่จริง ถ้าผู้ฟังเข้าใจ ต้องอาบัติปาราชิก พ้นจากความเป็นภิกษุ แต่ถ้าผู้ฟังไม่เข้าใจ ต้องอาบัติถุลลัจจัย

   ส่วนภิกษุใดบอกอุตริมนุสธรรม ที่ตนมีอยู่จริง แก่อนุปสัมบัน (คือผู้ที่มิได้อุปสมบท ได้แก่คฤหัสถ์และสามเณร) ถ้าผู้ฟังเข้าใจ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าไม่เข้าใจ ต้องอาบัติทุกกฎ

   จากข้อความตอนนี้ แสดงว่า ภิกษุที่มีอุตริมนุสธรรม บอกความจริงแก่ภิกษุด้วยกันได้ ไม่เป็นอาบัติ

   สำหรับอุบาสกอุบาสิกา ที่บรรลุมรรคผล แม้ท่านมิได้ห้าม ท่านก็ไม่บอกผู้อื่น เพราะความประสงค์จะอวดอ้าง หรือยกตนไม่มีแก่ท่าน


[full-post]

อุตริมนุสธรรม

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.