ลักษณะความลึกซึ้งของพระไตรปิฎก


    วินโย กิจฺจคมฺภีโร,              อภิธมฺโม สภาวโต,

    สุตฺตนฺโต อตฺถคมฺภีโร,       อิเม ตโย สุคมฺภิรา.

    อปฺเปว สสโก โกจิ              ปติฏฺเฐยฺย มหณฺณเว

    น โกจิ จตุคมฺภีเร               ติวิเธ ปิฏกณฺณเว.[1]


.....พระไตรปิฎกเหล่านี้ มีความลึกซึ้งดี กล่าวคือ (๑) "พระวินัยปิฎก" มีความลึกซึ้งโดยกิจที่ภิกษุพึงประพฤติ, (๒) "พระอภิธรรมปิฎก" มีความลึกซึ้งโดยสภาวะ, (๓) "พระสุตตันตปิฎก" มีความลึกซึ้งโดยเนื้อหา.

.....กระต่ายพึงดำรงอยู่ในมหาสมุทรได้อย่างไร ฉันใด ใครๆ พึงไม่ดำรงอยู่ในมหาสมุทรคือพระไตรปิฎกอันมีความลึกซึ้ง ๔ ประการได้ ฉันนั้น.


....."ความลึกซึ้ง ๔ ประการ" (จตุคมฺภีเร) คัมภีร์วชิรสารัตถสังคหฎีกา อธิบายไว้ว่า "น โกจิ จตุคมฺภีเรติ โกจิ ปุคฺคโล จตุคมฺภีเร อตฺถธมฺมเทสนาปฏิเวธสงฺขาเตหิ จตูหิ คมฺภีรภาเวหิ คมฺภีเร ติวิเธ ปิฏกณฺณเว ปิฏกสงฺขาเต มหาสมุทฺเท น ปติฏฺเฐยฺย ปติฏฺฐํ น ลเภยฺย."

.....แปลความว่า บทว่า "น โกจิ จตุคมฺภีเร" อธิบายว่า บุคคลใดๆ ไม่พึงดำรงอยู่ คือไม่พึงได้การดำรงอยู่ในมหาสมุทรที่บัณฑิตเรียกว่าปิฎก คือ มหาสมุทรคือพระไตรปิฎก ที่ลึกซึ้งด้วยความลึกซึ้ง ๔ ประการ ที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า "อรรถ, ธรรม, เทศนา, ปฏิเวธ"


.....ความหมายของ "อรรถ, ธรรม, เทศนา, ปฏิเวธ" พระอรรถกถาจารย์ ได้แสดงไว้ในอรรถกถาวินัยปิฎก (สมันตปาสาทิกา) ว่า;

.....บรรดาคัมภีรภาพทั้ง ๔ นั้น พระบาฬี (พระไตรปิฎก) ชื่อว่า "ธรรม". เนื้อความแห่งพระบาฬีนั้นนั่นแหละ ชื่อว่า "อรรถ". การแสดงพระบาฬีนั้นที่กำหนดไว้ด้วยใจนั้นชื่อว่า "เทศนา". การหยั่งรู้พระบาฬีและอรรถแห่งพระบาฬีตามความเป็นจริง ชื่อว่า "ปฏิเวธ".[2]


ลักษณะเด่นของแต่ละปิฎก

พระอรรถกถาจารย์แสดงไว้ว่า;


.....ก็ปิฎกทั้ง ๓ นี้ เป็น “อาณาเทศนา โวหารเทศนา ปรมัตถเทศนา” และ “ยถาปราธศาสน์ ยถานุโลมศาสน์ ยถาธรรมศาสน์” และ “สังวราสังวรกถา ทิฏฐิวินิเวฐนกถา นามรูปปริเฉทกถา” ตามลำดับ.

.....แท้จริง บรรดาปิฎกทั้ง ๓ นี้ “วินัยปิฎก” เรียกว่า “อาณาเทศนา” เพราะความที่วินัยปิฎกนั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ควรแก่อาณา ทรงแสดงไว้โดยความเป็นปิฎกที่มากด้วยอาณา (พระวินัยบัญญัติ), “สุตตันตปิฎก” เรียกว่า “โวหารเทศนา” เพราะความที่สุตตันตปิฎกนั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ฉลาดในโวหาร ทรงแสดงไว้โดยความเป็นปิฎกที่มากด้วยโวหาร, “อภิธรรมปิฎก” เรียกว่า “ปรมัตถเทศนา” เพราะความที่พระอภิธรรมปิฎกนั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ฉลาดในปรมัตถ์ (สภาวธรรม) ทรงแสดงไว้โดยความเป็นปิฎกที่มากด้วยปรมัตถ์.

.....เหมือนอย่างนั้น “วินัยปิฎก” แรก เรียกว่า “ยถาปราธศาสน์” (การสอนตามความผิด) คือ เหล่าสัตว์ที่เป็นผู้มีความผิดมากนั้นใดมีอยู่ เหล่าสัตว์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอนแล้วตามความผิดในปิฎกนี้. “สุตตันตปิฎก” ที่สอง เรียกว่า “ยถานุโลมศาสน์” (สอนตามอนุโลมแก่อัธยาศัย) คือ เหล่าสัตว์ที่เป็นผู้มีอัธยาศัย อนุสัย จริต และอธิมุตติกะ (เป็นผู้น้อมใจเชื่อ) ไม่ใช่อย่างเดียวกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอนตามอนุโลมในปิฎกนี้. “อภิธรรมปิฎก” ที่สาม เรียกว่า “ยถาธรรมศาสน์” (สอนตามสภาวธรรม) คือ เหล่าสัตว์ที่เป็นผู้มีความสำคัญว่า “เรา ของเรา” ในสิ่งสักว่ากองสภาวธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอนตามสภาวธรรมในปิฎกนี้.

.....เหมือนอย่างนั้น “วินัยปิฎก” แรก เรียกว่า “สังวราสังวรกถา” คือ ความสำรวมน้อยและใหญ่ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความละเมิด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปิฎกนี้. “สุตตันตปิฎก” ที่สอง เรียกว่าว่า “ทิฏฐิวินิเวฐนกถา” คือ การคลี่คลายความเห็นผิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อทิฏฐิ ๖๒ (ดูในพรหมชาลสูตร) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปิฎกนี้. “อภิธรรมปิฎก” ที่สาม เรียกว่า “นามรูปปริเฉทกถา” คือ การกำหนดนามและรูปที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสมีราคะเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปิฎกนี้.[3]

--------------------

[1] วชิรสารตฺถสงฺคห. คาถา ๓๙๗-๓๙๘

.....คัมภีร์ "วชิรสารัตถสังคหะ" (การรวบรวมเนื้อหาอันเป็นสาระประดุจเพชร) เป็นคัมภีร์ว่าด้วยหลักอลังการศาสตร์ทางภาษาบาฬี รจนาเป็นคาถา ๔๑๕ คาถา ซึ่งเป็นการแสดงอุทาหรณ์ของอลังการะนั้นๆ ไปในตัวคาถา รจนาโดยพระสิริรัตนปัญญมหาเถระ ชาวล้านนา ในปี พ.ศ.๒๐๗๗ รัชสมัยพระเมืองเกษเกล้า (พ.ศ.๒๐๖๘-๒๐๘๑)[1] แห่งพระราชวงศ์มังราย คัมภีร์นี้มีฏีกาอธิบายอยู่ฉบับหนึ่ง ไม่ปรากฏผู้รจนาและวันเดือนปีที่รจนา สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระสิริรัตนปัญญมหาเถระเอง

.....ท้ายคัมภีร์ระบุว่าท่านพำนักอยู่ "วัดมหาวัน" แต่ไม่ได้ระบุว่าอยู่เมืองใด แต่คัมภีร์ชินกาลมาลินี (พงศาวดารพระพุทธศาสนายุคล้านนา) ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ท่านรจนาอีกคัมภีร์หนึ่ง ในราว พ.ศ.๒๐๖๐ รัชสมัยพระเมืองแก้ว (พ.ศ.๒๐๓๘-๒๐๖๘) ฉบับตีพิมพ์ภาษาบาฬีอักษรพม่า โดยมหาวิทยาลัยเวชิตปริยัตติสาสนะ เมืองมันตะเล ประเทศเมียนมา จ.ศ. ๑๓๗๙ ตรงกับ พ.ศ.๒๕๖๑ (ไทยเป็น พ.ศ.๒๕๖๐ พม่านับ พ.ศ.เร็วกว่าไทยไป ๑ ปี) ระบุบนหน้าปกว่าท่านพำนักอยู่วัดป่าแดง เมืองเชียงใหม่ ดังข้อความว่า

....."อยุทฺธยรฏฺฐสฺส อุตฺตรปฺปเทเส นพฺพิสิปุเร รตฺตวนวิหาเร วสนฺเตน ภทนฺตรตนปญฺญมหาเถเรน วิรจิตา ชินกาลมาลินี"

.....แปลความว่า "คัมภีร์ชินกาลมาลินี พระรัตนปัญญมหาเถระผู้พำนักอยู่วัดป่าแดง เมืองนัพพีสี (เชียงใหม่) ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองอยุธยา รจนาแล้ว"

.....ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าท่านพำนักอยู่ ๒ วัด คือ วัดมหาวัน นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ กับวัดป่าแดง เชิงดอยสุเทพ


[2] วิ.มหา.อ. ๑/๒๒ (สฺยา.)

[3] วิ.มหา.อ. ๑/๒๑ (สฺยา.)

---------------------

(เพจบาลีใหญ่, วัดทรายมูล)

 

[full-post]

ลักษณะความลึกซึ้งของพระไตรปิฎก

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.