แนะนำคัมภีร์ธรรมบทและชาดก (๑)

-----------------------------------

คัมภีร์ธรรมบทและคัมภีร์ชาดกมีหลายอย่างที่เหมือนกัน เมื่อพูดถึงคัมภีร์หนึ่งก็ชวนให้เข้าใจอีกคัมภีร์หนึ่งไปด้วยในตัว

แต่เป้าหมายหลักคือ แนะนำคัมภีร์ธรรมบท ส่วนคัมภีร์ชาดกเป็นของแถม

ถอยไปตั้งหลักกันที่-พระไตรปิฎก

พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์หลักของพระพุทธศาสนาเถรวาท คือเป็นที่รวมคำสอนทั้งมวล 

ภาษาที่ใช้บันทึกในพระไตรปิฎกคือ ภาษาบาลี

ภาษาบาลีไม่มีอักษรประจำภาษา ชาติไหนเรียนภาษาบาลีก็ใช้อักษรของภาษาชาตินั้น เช่นไทยเราเรียนบาลีก็เขียนคำบาลีเป็นอักษรไทย

พระไตรปิฎกที่เป็นบาลีอักษรไทยพิมพ์เป็นเล่ม ๔๕ เล่ม นัยว่าเพื่อให้เท่าจำนวนปีที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจประกาศพระศาสนา ๔๕ พรรษา

ความเหมือนกันอย่างแรกของคัมภีร์ธรรมบทและคัมภีร์ชาดกก็คือ เนื้อเรื่องในคัมภีร์ทั้งสองนี้ท่านแต่งเป็นบทกลอน

“บทกลอน” เรียกเป็นคำบาลีว่า “คาถา”

คำที่เสียงใกล้เคียงกันคือ “กถา”

คาถากับกถา ไม่เหมือนกัน

“คาถา” คือบทกลอน หรือ “ร้อยกรอง”

“กถา” คือคำพูดธรรมดา หรือ “ร้อยแก้ว”

จำไว้ง่ายๆ แค่นี้ 

เวลาพูดก็อย่าสับสน 

คาถาก็ “คาถา” อย่าพูดเป็น “กถา” 

กถาก็ “กถา” อย่าพูดเป็น “คาถา”

ใช้คำว่า “คาถา” ก็นึกให้ถูกต้องว่ากำลังพูดถึงร้อยกรองคือบทกลอน

ใช้คำว่า “กถา” ก็นึกให้ถูกต้องว่ากำลังพูดถึงร้อยแก้วคือคำพูดธรรมดา

.....................

เขียนมาถึงตรงนี้ ผมนึกถึงทฤษฎีของคนรุ่นใหม่ที่ประกาศว่า ภาษาเป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีผิดไม่มีถูก เขียนอย่างไรก็ได้ สะกดอย่างไรก็ได้ ขอให้เข้าใจตรงกันว่าสื่อถึงอะไร-เท่านี้พอ ไม่ต้องเอาผิดเอาถูกมาตัดสิน

ถ้าพูดหรือเขียนว่า “คาถา” คนพูดคนเขียนเข้าใจว่าคือร้อยแก้วคือคำพูดธรรมดา-คือเข้าใจผิด

คนอ่านเห็นคำว่า “คาถา” ก็เข้าใจว่าคือร้อยแก้วคือคำพูดธรรมดา-ก็คือเข้าใจผิดอีกเหมือนกัน

นี่คือ “เข้าใจตรงกันว่าสื่อถึงอะไร” - ตรงตามทฤษฎี 

แต่เป็นความเข้าใจผิดทั้งคู่

คนเขียนก็เข้าใจผิด

คนอ่านก็เข้าใจผิด

แต่เข้าใจผิดตรงกัน

จะเกิดอะไรขึ้น?

“คาถา” ก็จะหมายถึงร้อยแก้ว-คำพูดธรรมดา ทั้งๆ ที่ “คาถา” ท่านหมายถึงร้อยกรองคือบทกลอน

เห็นหรือยังว่าทฤษฎีนี้ก่อให้เกิดอะไรขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความวิปริตสับสนอันเกิดจากการไม่ศึกษาเรียนรู้หลักเดิม ใช้แต่ความเข้าใจเอาเองเป็นหลัก

.....................

ก็เหมือนคำว่า “จำวัด” ที่หมายถึง sleep 

แต่คนสมัยนี้ไม่ศึกษา ไม่เรียนรู้ 

เข้าใจเอาเองว่า “จำวัด” คือ stay 

พากันใช้คำว่า “จำวัด” ในความหมายว่า stay ตามที่เข้าใจผิดๆ กันทั่วบ้านทั่วเมือง

ทีนี้ก็กลายเป็นข้ออ้างอย่างเลว-ที่ไหนๆ เข้าก็ใช้กันอย่างนี้ทั้งนั้น

เห็นหรือยังว่าทฤษฎีอันเกิดจากการไม่คิดจะศึกษาเรียนรู้หลักเดิมเช่นนี้ก่อให้เกิดอะไรขึ้น

นี่ยังเป็นแค่ถ้อยคำภาษา

ถ้าทฤษฎีนี้ลามไปถึงหลักคำสอน จะเกิดอะไรขึ้น?

ต่อไปถ้ามีคนบอกว่า มรรคมีองค์ ๘ ไม่ถูกต้อง เพราะเลข ๘ ไม่ใช่เลขมงคล 

มรรคต้องมีองค์ ๙ จึงจะถูกต้อง เพราะเลข ๙ เป็นเลขมงคล

แล้วเกิดมีคนเห็นด้วยมากขึ้นๆ

อะไรจะเกิดขึ้น?

มรรคมีองค์ ๘ ในพระพุทธศาสนาก็จะกลายเป็นมรรคมีองค์ ๙ และกลายเป็นคำสอนที่ถูกต้องตามความเข้าใจของคนหมู่มาก

อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้

มงคล ๓๘ ก็เคยมีคนคัดค้านมาแล้ว ท่านว่าตัวเลข ๓๘ ไม่ใช่เลขมงคล คือ ๓ กับ ๘ บวกกันไม่เป็น ๙ พระพุทธเจ้าจะไม่ตรัสจำนวนที่ไม่เป็นมงคลเช่นนี้

มงคลต้องมี ๓๖ ข้อ เพราะ ๓ กับ ๖ บวกกันเป็น ๙ เลข ๙ เป็นเลขมงคล มงคล ๓๖ จึงเป็นจำนวนที่ถูกต้อง

คนสติปัญญาปกติ เป็นนักการศึกษาด้วยซ้ำ-อธิบายแบบนี้มาแล้วจริงๆ!

เพราะฉะนั้น “คาถา” และ “กถา” คำไหนหมายถึงอะไร ศึกษาหลักเดิมให้เข้าใจก่อน อย่าพูดหรือเขียนตามที่เข้าใจเอาเอง

.....................

กลับมาที่คัมภีร์ธรรมบทและคัมภีร์ชาดก

คัมภีร์ธรรมบทอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕

คัมภีร์ชาดกอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ และ ๒๘

ที่ควรรู้ต่อไปอีกด้วยก็คือ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ และ ๒๘ มีแต่คัมภีร์ชาดกล้วนๆ แต่พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ ไม่ได้มีแต่คัมภีร์ธรรมบทล้วนๆ หากแต่มีคัมภีร์ต่างๆ รวมอยู่ด้วยกัน ๕ คัมภีร์ คือ -

(๑) ขุททกปาฐะ = บทสวดย่อยๆ เช่น มงคลสูตร รตนสูตร กรณียเมตตสูตร

(๒) ธรรมบท = คือคัมภีร์ที่กำลังพูดถึงนี้ เฉพาะตัวคาถา ๔๒๓ คาถา

(๓) อุทาน = พุทธอุทาน ๘๐ เรื่อง

(๔) อิติวุตตกะ = พระสูตรที่ไม่ขึ้นต้นด้วย เอวมฺเม สุตํ แต่เชื่อมความเข้าสู่คาถาด้วยคำว่า อิติ วุจฺจติ รวม ๑๑๒ สูตร

(๕) สุตตนิบาต = ชุมนุมพระสูตรชุดพิเศษ ซึ่งเป็นคาถาล้วนหรือมีความนำเป็นร้อยแก้วรวม ๗๑ สูตร

ทำท่าจะบานปลายไปกันใหญ่ แต่ไม่ต้องกลัวครับ คัมภีร์อื่นๆ ตัดออกไป โฟกัสเฉพาะคัมภีร์ธรรมบทเรื่องเดียว

--------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๙ ตุลาคม ๒๕๖๖

๑๑:๒๙ 

[full-post]

แนะนำคัมภีร์ธรรมบทและชาดก (๑)

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.