คัมภีร์นิทเทส (คัมภีร์ไขความพุทธพจน์)สำคัญเป็นไฉน?

  (1). ทำไมพระมหาเถระสารีบุตรผู้เป็นอัครสาวก ผู้เป็นเอตทัคคะเลิศทางด้านปัญญา ผู้เป็นธรรมเสนาบดี มีตำแหน่งเป็นแม่ทัพนำธรรมของพระบรมศาสดาซึ่งเป็นจอมทัพธรรมออกเผยแพร่สู่สาธารณชน ท่านจึงเลือกเฟ้นหัวข้อธรรมจากคัมภีร์สุตตนิบาต(คัมภีร์ชุมนุมพระสูตร)อัฏฐกวรรค(หมวดไม่ยึดติดกาม 16 หัวข้อ(อุทเทส) ปารายนวรรค(หมวดจุดมุ่งหมายปลายทาง) 16 หัวข้อ(อุทเทส) และอีกหนึ่งหัวข้อ คือ ขัคคสุสาณอุทฺเทส(หัวข้อหน่อแรด)จากอุรควรรค(หมวดการกำจัดกิเลสเป็นเหมือนงูลอกคราบ) รวมจำนวนเป็น 33 หัวข้อ(มาติกา) ตั้งเป็นหัวข้อปัญหา(อุทเทส)เพื่อไขความ(นิทเทส) หลังจากตั้งปัญหาไขความกันแล้ว ผลลัพธ์ (ผลที่ได้กลับมา) ก็คือรายละเอียดที่เรียกว่า ปฏินิทเทส

   ในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระชนชีพอยู่ พระอริยสาวกมีมาก ทราบระบบการไขความจากหมวดไม่ติดกาม (อัฏฐกวรรค) หมวดจุดมุ่งหมายปลายทาง (ปารายนวรรค)  กับอีกหนึ่งหัวข้อ คือ หัวข้อหล่อแรด(ขัคคสุสาณอุทเทส)ดังกล่าวดี โดยการเห็นประจักษ์ไม่ใช่การบอกเล่า ด้วยการบรรลุมรรคผลนั่นเอง และก็ได้พากันให้ความสำคัญท่องบ่นสาธยายเพื่อเป็นตัวอย่างแก่สาธุชนรุ่นหลัง ดังปรากฏว่า เมื่อครั้งท่านพระโสภณกุฎิกัณณเถระ ศิษย์ของพระมหาเถระกัจจายนเถระแห่งสำนักทักขิณาปถชนบท มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้รับพุทธานุญาตให้พักในที่เดียวกับพระองค์ เพราะมีพระประสงค์จะรับฟังหมวดพระสูตรที่สำคัญอันเป็นเหตุไม่ติดกาม(อัฏฐกวรรค) ซึ่งเป็นส่วนที่กระตุ้นเตือนให้ภิกษุใส่ใจการปฏิบัติธรรม ท่านพระโสภณกุฏิกัณณเถระจึงเลือกสาธยาย อัฏฐกวรรค นี้ ด้วยทำนองสรภัญญะ ทรงสรรเสริญว่า สาธยายได้ไพเราะ และถูกต้องตามที่พระองค์แสดงไว้ทุกประการ ส่วนหมวดสำคัญที่เป็นส่วนวิธีปฏิบัติ คือ หมวดจุดมุ่งหมายปลายทาง (ปารายนวรรค) กับหัวข้อหน่อแรด(ขัคคสุสาณอุทเทส)ท่านพระสารีบุตรเถระผู้รจนาคัมภีร์นิทเทสนี้ นำมาสมทบ เพื่อให้คัมภีร์นี้กล้วงใหญ่ไฟศาล เป็นดุจพื้นน้ำรวมกับพื้นดิน คือสามารถไขความได้ครบถ้วนตามปณิธานที่ตั้งใจรจนาคัมภีร์นิทเทสนั่นแล

   (2). ทำไมก่อนการสังคายนาครั้งที่ 5 ซึ่งเกิดวิกฤตบ้านเมืองที่ลังกาทวีป พระภิกษุที่ทรงจำพระไตรปิฎกได้ลดน้อยลง โดยเฉพาะคัมภีร์นิทเทสเหลือเพียงภิกษุอลัชชีรูปเดียวเท่านั้น ท่านพระมหาติปิฏกเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์ของพระติสสเถระผู้ทรงจำพระปิฏกได้ 4 นิกาย จึงจำเป็นต้องนิมนต์ให้ศิษย์ของพระติสสเถระชื่อพระมหารักขิตเถระให้ไปเรียนกับพระอลัชชีนั้น เพื่อกันการครหาว่าเป็นการคลุกคลีกับอลัชชี ทั้งพระเถระผู้นิมนต์กับทั้งพระเถระผู้เรียนจึงต้องเข้าไปพร้อมกัน โดยพระเถระผู้นิมนต์นั่งอยู่เป็นเพื่อนพระเถระผู้เรียนจนกว่าจะเรียนจบ

   เหตุการณ์ครั้งนั้นย้ำเตือนให้อนุชนรุ่นต่อมาทราบว่า บรรดาคัมภีร์ 15 คัมภีร์ในขุททกนิกาย(นิกายคัมภีร์ย่อย) ล้วนมีลักษณะพิเศษที่โดดเด่นของแต่ละคัมภีร์ ไม่ใช่สักแต่ว่าเป็นการรวบรวมเข้าไว้ในกลุ่มขุททกนิกายโดยไม่มีลักษณะพิเศษที่โดดเด่นประจำคัมภึร์นั้นๆ ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคโดดเด่นทดสอบได้ เจริญให้รู้แจ้งได้ คัมภีร์นิทเทสโดดเด่นไขความพุทธพจน์ได้ครบถ้วนด้วยมาตรการ 9 วิธี ดังนี้

   1. แบบยกพระพุทธวจนะทั้งบาทพระคาถามาตั้ง แล้วไขความทีละบท

   2. แบบยกพระพุทธวจนะทั้งบาทพระคาถามาตั้ง แล้วไขความรวมเป็นใจความ

   3. แบบยกพระพุทธวจนะทั้งบาทพระคาถามาตั้ง แล้วไขความที่ละบท โดยบทที่ไขความนั้นมีวิภ้ตติตรงกับบทตั้ง

   4. แบบยกพระพุทธวจนะทั้งบาทพระคาถามาตั้ง แล้วไขความทีละบท โดยบทที่ไขความนั้นมีวิภัตติต่างกับบทตั้ง

   5. แบบวิเคราะห์ศัพท์

   6. แบบยกพระพุทธวจนะที่ปรากฏอยู่ในพระสูตรอื่นมายืนยันคำไขความนั้น

   7. แบบยกพระคาถาภาษิตอ้างอิงการไขความนั้น

   8. แบบนำศัพท์ไวพจน์มาไขความให้พิสดารขึ้น

   9. แบบมุ่งไขความเนื้อหาสาระเป็นสำคัญ

   (3).ในคัมภีร์นิสสยปริภาสนาอักษรปัลละกล่าวว่า " เพชรแข็งแกร่งต้องมีอุปกรณ์เจียนะไนถึงจะปรากฏความแวววาวได้ฉ้นใด พระพุทธวจนะสุขุมลุ่มลึกก็ต้องมี อุปกรณ์เจียรไน เนื้อความจึงปรากฏแจ่มจำรัสได้ฉันนั้น ซึ่งในส่วนที่เป็นเครื่องมือคมกล้าที่ใช้เจียระไน 9 วิธี ก็ได้กล่าวไปแล้ว(2) ยังเหลือส่วนที่เป็นเพชรแข็งกล้า เข้าถึงความเข้าใจอันเป็นความแวววาวได้ยาก 33 หัวข้อ ตัวอย่างเช่น หัวข้อกาม(กามสุตตอุทเทส)ที่ทรงสอนให้รู้จักโทษของกาม และการหลีกออกจากกาม ซึ่งมีสภาพการณ์เป็นเหมือนการวิดน้ำในเรือรั่ว เพื่อประคองให้ผู้พาย(=ผู้ปฏิบัติธรรม)เข้าถึงฝั่ง(นิพพาน)ไม่จมไปเสียก่อน จึงไขความแตกประเด็นให้ทราบรายละเอียด(=ปฏินิทเทส)เป็นหลายแง่มุม(=หัวข้อย่อยที่ต้องไขความซึ่งก็คือนิทเทส) จะขอยกตัวอย่างเพียงบางส่วนในหัวข้อที่เป็นบทตั้งกามสุตตอุทเทส มีรายละเอียด(ปฏินิทเทส)ที่ต้องไขความ(นิทเทส)ดังนี้

   1. ไขความกาม 2 ประเภท คือ วัตถุกาม 1.กิเลสกาม 1.

   2. ไขความบุคคลละกามด้วยการข่มไว้ 18 จำพวก

   3. ไขความบุคคลละกามด้วยการตัดขาด 4 จำพวก

   4. ไขความอันตราย 2 อย่าง คือ อันตรายปรากฏ 1.อันตรายปกปิด 1.

   5. ไขความธรรมที่เป็นมลทินภายใน 3 อย่าง คือ โลภะ 1. โทสะ 1.โมหะ 1.

   6. ไขความสภาพที่เป็นทาส 4 ชนิด คือ ทาสเรือนเบี้ย 1.ทาสสินไถ่ 1.ทาสที่สมัครเป็นทาสเอง 1.ทาสเชลยศึก 1.

   7. ไขความผู้มีสติทุกเมื่อด้วยเหตุ 4 อย่าง

   8. ไขความ ฯลฯ ทุก 33 แม่บท(มาติกา) จะประกอบด้วยการตั้งแม่บทเป็นหัวข้อ(อุทเทส) การไขความ(นิทเทส) ผลลัพธ์ที่เป็นรายละเอียด(ปฏินิทเทส) ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ และพระฏีกาจารย์ให้รายละเอียดเชิงลึก พระนิสสยาจารย์ให้รายละเอียดลเชิงกว้าง มีการกล่าวถึงการตีความด้วยหาระ 16 อย่างในคัมภีร์เนตติปกรณ์ เทียบเคียงกับการไขความด้วยรูปแบบที่เป็นวิธีการ 9 อย่างในคัมภีร์นิทเทส ว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร? ผลที่ได้รับต่างกันเช่นไร? เวลาไหนควรใช้คัมภีร์ใด? เป็นต้น ถ้าเพื่อนๆสนใจกระผมจะขอนำเสนอรายละเอียดในโอกาสต่อไปครับ


[full-post]

คัมภีร์นิทเทส

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.