แนะนำคัมภีร์ธรรมบทและชาดก (๔)

-----------------------------------

สามตอนที่ผ่านมา หวังว่าคงพอรู้จักคัมภีร์ธรรมบทและคัมภีร์ชาดกเป็นพื้นฐานพอสมควรแล้ว

ที่นี้ก็มาทำความรู้จักให้กว้างออกไปอีก

ทบทวนสั้นๆ -

ธรรมบทท่านแต่งเป็นคำกลอนตลอดทั้งคัมภีร์

ชาดกท่านก็แต่งเป็นคำกลอนตลอดทั้งคัมภีร์เหมือนกัน

อรรถกถาของธรรมบทและอรรถกถาของชาดกชื่อเดียวกัน คือชื่อ “ปรมัตถโชติกา”

ตรงนี้ต้องเข้าใจสถานะของคัมภีร์อีกหน่อยหนึ่ง

คัมภีร์ในพระพุทธศาสนาท่านจัดไว้เป็นชั้นๆ

คัมภีร์ชั้นต้น เรียกว่า “พระไตรปิฎก” หรือ “พระบาลี”

คัมภีร์ที่อธิบายพระไตรปิฎก เรียกว่า “อรรถกถา” เป็นชั้นรองลงมา

คัมภีร์ที่อธิบายอรรถกถา เรียกว่า “ฎีกา” เป็นชั้นรองลงมาอีก

เอาแค่นี้ก่อน

“อรรถกถา” ไม่ใช่ชื่อคัมภีร์เล่มใดเล่มหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นชื่อรวมเรียกคัมภีร์อธิบายความในพระไตรปิฎก = คัมภีร์เล่มไหนแต่งขึ้นเพื่ออธิบายความในพระไตรปิฎก ก็เรียกคัมภีร์เล่มนั้นว่า “อรรถกถา” 

คัมภีร์อรรถกถามีชื่อเฉพาะเล่มด้วย เช่น -

“สมันตปาสาทิกา” เป็นชื่ออรรถกถาพระวินัยปิฎก 

“สุมังคลวิลาสินี” เป็นชื่ออรรถกถาคัมภีร์ทีฆนิกาย (คัมภีร์แรกของพระสุตตันตปิฎกหรือพระสูตร) 

“อัฏฐสาลินี” เป็นชื่ออรรถกถาคัมภีร์ธรรมสังคณี (คัมภีร์แรกของพระอภิธรรมปิฎก) เป็นต้น

คัมภีร์อรรถกถาต้นฉบับเป็นภาษาบาลี พิมพ์เป็นอักษรไทยในเวลานี้มีประมาณ ๖๐ เล่ม

เป็นอันว่า -

อรรถกถาของธรรมบท ชื่อ “ปรมัตถโชติกา”

อรรถกถาของชาดก ก็ชื่อ “ปรมัตถโชติกา” เหมือนกัน

ที่เหมือนกันอีกอย่างหนึ่งก็คือ อรรถกถาของทั้งสองคัมภีร์นี้ไม่มีใครเรียก “ปรมัตถโชติกา” อันเป็นชื่อจริง 

อรรถกถาธรรมบทเรียกกันว่า “ธัมมปทัฏฐกถา” เรียกสั้นลงไปอีกว่า “ธรรมบท” ก็เป็นที่รู้กันว่าหมายถึงอรรถกถาธรรมบท

อรรถกถาชาดกเรียกกันว่า “ชาตกัฏฐกถา” เรียกสั้นลงไปอีกว่า “ชาดก” ก็เป็นที่รู้กันว่าหมายถึงอรรถกถาชาดก

แม้แต่นักเรียนบาลีบ้านเราที่ใช้อรรถกถาธรรมบทเป็นแบบเรียนแท้ๆ ก็ไม่รู้ว่าอรรถกถาธรรมบทมีชื่อจริงว่า “ปรมัตถโชติกา”

ไม่เชื่อลองไปถามนักเรียนบาลีดูเถิด 

อรรถกถาธรรมบทชื่อจริงว่าอะไร?

ร้อยทั้งร้อยตอบไม่ได้ 

สุดยอดของความมหัศจรรย์จริงๆ

.....................

อรรถกถาธรรมบทและอรรถกถาชาดกใช้วิธีอธิบายความหรือเล่าเรื่องด้วยลีลาเดียวกัน 

วิธีเล่าเรื่องประกอบด้วยเนื้อหาหลัก ๓ ส่วน คือ - 

(๑) เรื่องเล่าถึงความเป็นมาหรือเหตุการณ์ที่เป็นสาเหตุให้พระพุทธองค์ตรัสคาถาบทนั้นๆ ส่วนนี้นิยมเรียกกันว่า “ท้องนิทาน”

(๒) ตัวคาถาที่ยกมาจากคัมภีร์ในพระไตรปิฎก เรียกกันว่า “คาถา” 

(๓) คำอธิบายความหมายของคาถา เรียกกันว่า “แก้อรรถ” 

จบลงด้วยการสรุปว่า เมื่อตรัสคาถาจบแล้วผู้ฟังบรรลุผลเช่นไร 

เฉพาะอรรถกถาชาดกมีพิเศษตรงที่-เมื่อเล่าถึงเหตุการณ์ปัจจุบันแล้วจะเล่าเหตุการณ์ในอดีตชาติอันเป็นตัว “ชาดก” ด้วยทุกเรื่อง และเมื่อจบจะบอกด้วยว่า ตัวละครในชาดกตัวไหนคือใครในชาติปัจจุบัน เรียกกันว่า “กลับชาติ”

นั่นเป็นสวนที่เหมือนกัน แต่ส่วนที่ต่างกันคือ ความยาวของเรื่องและวิธีจัดหมวดหมู่ (วิธีจัดหมวดหมู่ พูดมาแล้วในตอนก่อนๆ)

ธรรมบทพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐเล่ม ๒๕ มีจำนวนคาถา ๔๒๓ คาถา เนื้อที่หน้ากระดาษพิมพ์ ๕๘ หน้า

ชาดกพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐพิมพ์ ๒ เล่ม คือ -

เล่มที่ ๒๗ เนื้อที่หน้ากระดาษพิมพ์ ๕๗๑ หน้า 

เล่ม ๒๘ เนื้อที่หน้ากระดาษพิมพ์ ๔๕๓ หน้า 

รวม ๒ เล่ม ๑,๐๒๔ หน้า

พอมาถึงอรรถกถา

อรรถกถาธรรมบท หรือ “ธัมมปทัฏฐกถา” ที่พิมพ์เป็นบาลีอักษรไทยฉบับที่ยุติเป็นมาตรฐานในเมืองไทย คือฉบับที่มหามกุฏราชวิทยาลัยจัดพิมพ์ แบ่งเป็น ๘ เล่ม เรียกว่า “ภาค” ตั้งแต่ “ปฐโม ภาโค” = ภาค ๑ จนถึง “อฏฺฐโม ภาโค” = ภาค ๘ มีจำนวนหน้าดังนี้ -

ภาค ๑ 148 หน้า

ภาค ๒ 158 หน้า

ภาค ๓ 190 หน้า

ภาค ๔ 149 หน้า

ภาค ๕ 120 หน้า

ภาค ๖ 189 หน้า

ภาค ๗ 162 หน้า

ภาค ๘ 197 หน้า

รวม ๘ ภาค ๑,๓๑๓ หน้า

อรรถกถาชาดก หรือ “ชาตกัฏฐกถา” ที่พิมพ์เป็นบาลีอักษรไทยโดยมหามกุฏราชวิทยาลัยจัดพิมพ์ แบ่งเป็น ๑๐ เล่ม เรียกว่า “ภาค” มีจำนวนหน้าดังนี้ -

ภาค ๑ 411 หน้า

ภาค ๒ 474 หน้า

ภาค ๓ 421 หน้า

ภาค ๔ 618 หน้า

ภาค ๕ 618 หน้า

ภาค ๖ 418 หน้า

ภาค ๗ 463 หน้า

ภาค ๘ 495 หน้า

ภาค ๙ 515 หน้า

ภาค ๑๐ 608 หน้า

รวม ๑๐ ภาค ๕,๐๔๑ หน้า

ลองเปรียบความยาวดู -

อรรถกถาธรรมบท ๘ ภาค ๑,๓๑๓ หน้า

อรรถกถาชาดก ๑๐ ภาค ๕,๐๔๑ หน้า

อรรถกถาชาดกยาวกว่าอรรถกถาธรรมบทประมาณ ๕ เท่า

ผมไม่ทราบว่ามีใครเคยนับจำนวนหน้าและเอาสถิติของคัมภีร์อรรถกถาทั้งสองนี้มาเสนอสู่สายตาสาธารณชนไว้ที่ไหนบ้าง

ขอสมมุติตัวเองว่า มีผมทำเป็นคนแรกก็แล้วกัน อิอิ

พูดอย่างนี้ก็เพื่อให้กระทบใจนักเรียนบาลีอีกเช่นเคย

งานบาลีมีให้ทำอีกเยอะ

งานแบบนี้ ใครจะเห็นว่ามีประโยชน์หรือเห็นว่าไร้สาระ ก็เป็นเสรีภาพทางความคิดเห็น เชิญว่ากันได้เต็มที่

แต่งานทุกอย่าง เมื่อทำขึ้นไว้ ก็ย่อมไม่ไร้ประโยชน์

สมดังคำในชาดกที่ว่า -

.........................................................

สาธุ โข สิปฺปกนฺนาม        อปิ ยาทิสกีทิสํ.

งานที่ทำด้วยฝีมือ มีประโยชน์ทั้งนั้น

ไม่ว่าจะเป็นงานอะไร 

ที่มา: สาลิตตกชาดก เอกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๐๗ 

สพฺพํ สุตมธีเยถ                    หีนมุกฺกฏฺฐมชฺฌิมํ

สพฺพสฺส อตฺถํ ชาเนยฺย         น จ สพฺพํ ปโยชเย

โหติ ตาทิสโก กาโล             ยตฺถ อตฺถาวหํ สุตํ.

ควรเรียนวิชาทุกอย่าง     ไม่ว่าจะเลว ดี หรือธรรมดา

ควรรู้ประโยชน์ของวิชาทุกอย่าง แต่ไม่ควรใช้ทุกอย่าง

โอกาสที่จะใช้วิชานั้นๆ ให้เป็นประโยชน์  มีอยู่แน่ๆ

ที่มา: มูสิกชาดก ปัญจกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๘๑๗

.........................................................

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๖

๑๒:๐๙ 

[full-post]

แนะนำคัมภีร์ธรรมบทและชาดก (๔)

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.