ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (4,272)
วิมุต - วิมุตติ
ต่างกันอย่างไร
“วิมุต” ภาษาไทยอ่านว่า วิ-มุด
“วิมุตติ” ภาษาไทยอ่านว่า วิ-มุด ก็ได้ อ่านว่า วิ-มุด-ติ ก็ได้ (ตามพจนานุกรมฯ)
(๑) “วิมุต”
บาลีเป็น “วิมุตฺต” (ต 2 ตัว มีจุดใต้ ตฺ ตัวหน้า) อ่านว่า วิ-มุด-ตะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + มุจฺ (ธาตุ = หลุด, พ้น) + ต ปัจจัย, ลบ จฺ ที่สุดธาตุ (มุจฺ > มุ), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (หรือนัยหนึ่งว่า แปลง จฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ตฺต)
: วิ + มุจฺ = วิมุจฺ > วิมุ + ตฺ + ต = วิมุตฺต
: วิ + มุจฺ = วิมุจฺ + ต = วิมุจฺต > วิมุตฺต
“วิมุตฺต” (วิ-มุด-ตะ) เป็นคำกริยาอดีตกาลหรือใช้เป็นคุณศัพท์ แปลตามศัพท์ว่า “หลุดพ้นแล้ว”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิมุตฺต” ว่า freed, released, intellectually emancipated (ปล่อยเป็นอิสระ, หลุดพ้น, หลุดพ้นด้วยปัญญา)
บาลี “วิมุตฺต” สันสกฤตเป็น “วิมุกฺต”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่ได้เก็บคำว่า “วิมุกฺต” แต่มีคำว่า “มุกฺต” ซึ่งเทียบกันได้ บอกไว้ดังนี้ -
“มุกฺต : (คำวิเศษณ์) อันหลุดพ้นแล้ว; liberated.”
บาลี “วิมุตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออก ใช้เป็น “วิมุต” อ่านว่า วิ-มุด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“วิมุต : (คำกริยา) พ้น, หลุดพ้น. (ป. วิมุตฺต; ส. วิมุกฺต).”
(๒) “วิมุตติ”
เขียนแบบบาลีเป็น “วิมุตฺติ” (มีจุดใต้ ตฺ ตัวหน้า) อ่านว่า วิ-มุด-ติ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + มุจฺ (ธาตุ = หลุด, พ้น) + ติ ปัจจัย, ลบ จฺ ที่สุดธาตุ (มุจฺ > มุ), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย
: วิ + มุจฺ = วิมุจฺ > วิมุ + ตฺ + ติ = วิมุตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่หลุดพ้นจากสังขารทั้งปวง”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “วิมุตฺติ” ว่า วิมุตติ, พระนิพพาน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิมุตฺติ” ว่า release, deliverance, emancipation (ความหลุดพ้น, ความปลดเปลื้อง, ความปลดปล่อย)
บาลี “วิมุตฺติ” สันสกฤตเป็น “วิมุกฺติ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่ได้เก็บคำว่า “วิมุกฺติ” แต่มีคำว่า “มุกฺติ” ซึ่งเทียบกันได้ บอกไว้ดังนี้ -
“มุกฺติ : (คำนาม) ปรมคติ, การหลุดพ้นของอาดมันจากร่างและพ้นจากเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป; final beatitude, the delivery of the soul from the body and exemption from further transmigration.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“วิมุตติ : (คำนาม) ความหลุดพ้น; ชื่อหนึ่งของพระนิพพาน. (ป.; ส. วิมุกฺติ).”
..............
สรุป :
“วิมุต” (ต เต่า ตัวเดียว) ภาษาไทยอ่านว่า วิ-มุด เป็นคำกริยา แปลว่า หลุดพ้น
“วิมุตติ” (ต เต่า 2 ตัว) ภาษาไทยอ่านว่า วิ-มุด ก็ได้ วิ-มุด-ติ ก็ได้ (ตามพจนานุกรมฯ) เป็นคำนาม แปลว่า ความหลุดพ้น และชื่อหนึ่งของพระนิพพาน
..............
ดูก่อนภราดา!
พระพุทธศาสนา:-
: ไม่ได้เชิดชูคนที่เห็นตาม
: ไม่ได้แช่งชักคนที่เห็นต่าง
: แต่ชื่นชมคนที่เห็นตรง
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ