ทองย้อย แสงสินชัย


ปล่อยวาง

คืออย่างไร 

มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งผมได้ยินคนพูดว่า “ปล่อยวาง” บ่อย ฟังดูเหมือนกับจะเป็นคำฮิตหรืออะไรสักอย่าง 

ผมเองก็เคยมีคนบอกด้วยความหวังดีว่า ปล่อยวางเสียบ้าง

ผมไม่แน่ใจว่า คนที่พูดคำนั้นเข้าใจหรือเปล่าว่า “ปล่อยวาง” คืออะไร 

หรือเพียงเห็นเขาพูด ก็พูดตามเขาไป

....................

คำว่า “ปล่อยวาง” นี้ ถ้าไม่ทำความเข้าใจให้ดีก็จะพาเข้าป่าได้ง่ายที่สุด 

เหมือนคำว่า “สันโดษ” 

เหมือนคำว่า “อุเบกขา” 

ที่จนบัดนี้คนไทยส่วนมากก็ยังออกจากป่าไม่ได้ 

“สันโดษ” คือ รู้สึกภูมิใจ อิ่มใจ และมีความสุขกับสิ่งที่ตนหามาได้หรือทำได้-อย่างเต็มกำลังความสามารถแล้ว 

และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องทำอีก หาอีก ก็จะทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก พร้อม ๆ ไปกับมีความภูมิใจและมีความสุขไปกับสิ่งที่ตนทำได้หาได้

นี่คือความหมายที่ถูกต้องของ “สันโดษ” 

“สันโดษ” ไม่ได้หมายถึง-เอาแต่น้อย ทำแต่น้อย ๆ เอาแต่น้อย ๆ ทำเยอะก็ได้ แต่ไม่อยากทำ 

แบบนี้ไม่ใช่สันโดษในพระพุทธศาสนา

“สันโดษ” เป็นงานทางใจ เป็นธรรมะที่ต้องปฏิบัติทางใจ 

เพราะไม่มี “สันโดษ” คนส่วนมากจึงหาความสุขกับสิ่งที่ตนมีไม่ได้ 

....................

“อุเบกขา” คือ มองเข้าไปให้ทะลุถึงความเป็นจริงของเรื่องนั้น ๆ เหตุการณ์นั้น ๆ ที่เราประสบ โดยไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของอารมณ์หรือความรู้สึกชอบหรือชัง

ตีกรอบให้แคบเข้า --

เขาสบายตามปกติของเขา 

เรา-เมตตา คือขอให้เขาอยู่เป็นปกติสุขของเขาต่อไป

เขามีปัญหา 

เรา-กรุณา ถ้าช่วยแก้ได้ แก้ให้ตามความสามารถ

เขาได้ดีมีสุขยิ่งขึ้น 

เรา-มุทิตา ทำใจให้ยินดีกับเขา

นอกเหนือจาก ๓ กรณีนี้ เมตตาก็ไม่ได้ กรุณาก็ไม่ได้ มุทิตาก็ไม่ได้ คือเราทำอะไรไม่ได้ สุดมือสุดเท้าของเรา

เรา-อุเบกขา มองให้ทะลุข้อเท็จจริงว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ยอมให้อารมณ์หรือความรู้สึกเข้ามาครอบงำบงการ แต่มีสติ ทำกิจที่ควรทำต่อไปได้ตามปกติ

แกนหลักของอุเบกขา ท่านแนะให้ทำไว้ในใจว่า 

สพฺเพ สตฺตา กมฺมสฺสกา 

ทุกคนมีกรรมเป็นของตน

... เรื่อยไปจนถึง ...

ยํ กมฺมํ กริสฺสนฺติ, กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา,

ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติ.

ใครทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่ว 

จักได้รับผลของกรรมนั้น

...............

นี่คือคำแผ่อุเบกขา

เราถนัดกันแต่ “แผ่เมตตา” 

แต่แทบจะไม่รู้จัก “แผ่อุเบกขา” 

เห็นคนถูกรถชนตายต่อหน้า สงสาร นอนไม่หลับไป ๓ เดือน

นี่คือขาด “อุเบกขา” 

“อุเบกขา” ไม่ใช่งอมืองอเท้า ไม่ดูดำดูดี ไม่รับผิดชอบ ไม่เห็นใจกัน ไม่สงสารกัน ใครจะเป็นจะตายไม่รับรู้ ท่องคาถา-อุเบกขา-ลูกเดียว 

แบบนี้ไม่ใช่อุเบกขาในพระพุทธศาสนา

------------------

แล้ว “ปล่อยวาง” ล่ะ? 

เล่าเรื่องให้ฟังอาจจะเข้าใจง่ายกว่า 

นายดำกับนายแดงทำงานอยู่บริษัทเดียวกัน

นายดำมีลูกสาวที่รักมากคนหนึ่ง ไปเรียนที่กรุงเทพฯ

นายแดงก็มีลูกสาวที่รักมากคนหนึ่ง ไปเรียนที่กรุงเทพฯ เหมือนกัน

วันหนึ่งลูกสาวของนายดำและนายแดงเสียชีวิตกะทันหันทั้งคู่ 

นายดำกำลังทำงาน มีคนโทรมาบอกว่าลูกสาวตาย

นายดำรับทราบ สอบถามและติดต่อนั่นโน่นนี่อยู่พักหนึ่ง แล้วก็ทำงานตามหน้าที่ต่อไปตามปกติ จนเลิกงานก็ไปเตรียมรับศพลูกสาว และเตรียมงานศพลูกสาวต่อไป 

ฝ่ายนายแดง ยังไม่รู้ว่าลูกสาวตาย วันนั้นก็จึงทำงานตามปกติเหมือนกับนายดำ 

หยุดภาพไว้ตรงนี้ 

มองไปที่นายดำกับนายแดงที่กำลังทำงาน จะเห็นว่าทั้งคู่ทำงานไปตามปกติเหมือนกัน

ความต่างกันอยู่ตรงที่ -

นายแดงทำงานตามปกติเพราะยังไม่รู้ว่าลูกสาวตาย 

นายดำแม้จะรู้แล้วว่าลูกสาวตาย แต่ก็ยังทำงานต่อไปได้ตามปกติ

เดินเรื่องต่อไป - 

นายแดงทำงานไปได้ครึ่งวัน มีคนโทรมาบอกว่าลูกสาวตาย 

นายแดงเป็นลมไป ๓ ตลบ เพื่อน ๆ ต้องหามส่งโรงพยาบาล 

....................

นายดำมีคุณธรรมคือ “ปล่อยวาง” รู้ว่าลูกสาวที่รักมากตายก็ทำใจได้ มีสติ รู้ว่าควรทำอะไร และยังไม่ควรทำอะไร จึงสามารถทำงานต่อไปได้ตามปกติ

ส่วนนายแดง ก่อนหน้านั้นทำงานตามปกติได้ก็เพราะยังไม่รู้ว่าลูกสาวตาย พอรู้ก็เป็นลม ทำงานตามปกติต่อไปไม่ได้ เพราะ “ปล่อยวาง” ไม่ได้ 

“ปล่อยวาง” ไม่ใช่ไม่เอาธุระ ไม่รับผิดชอบ ไม่สงสาร ไม่เห็นใจ แต่คือการมีสติรู้ว่าเมื่อไรควรทำอะไร เมื่อไรไม่ควรทำอะไร

“ปล่อยวาง” เป็นงานทางใจ เหมือน “อุเบกขา” เหมือน “สันโดษ” 

ถ้าเข้าใจไม่ถูก ก็จะพากันเข้าป่า เหมือน “อุเบกขา” กับ “สันโดษ” ที่คนไทยยังออกจากป่าไม่ได้

และถ้าไม่เข้าใจ ได้แต่พูดตามกันไปโก้ ๆ ก็จะไม่ผิดอะไรกับนกที่พูดเป็นเสียงคนได้เท่านั้น 

แต่จะอย่างไรก็ตาม ขอบคุณที่เอาถ้อยคำที่แสดงหลักธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามาพูดกัน 

และควรจะขอบคุณยิ่งขึ้นถ้าพยายามปฏิบัติให้ถูกและปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นได้จริง ๆ 

ขอบคุณครับ 

----------------------

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

๙ มีนาคม ๒๕๖๗

๑๑:๒๑

[full-post]

Bhasadhamma,ภาษาธรรม,ปล่อยวาง

แสดงความคิดเห็น

ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ

ขับเคลื่อนโดย Blogger.