ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (4,287)
สมเด็จพระนพรัตน์
คำวิบัตินี้ท่านได้แต่ใดมา
พระมหาเถระสมัยอยุธยาที่เรียกขานกันว่า “สมเด็จพระวันรัต วัดป่าแก้ว” เอกสารบางฉบับสะกดเป็น “สมเด็จพระพนรัต”
กล่าวคือ คำว่า “วัน” ที่แปลว่า “ป่า” ในภาษาบาลีเขียนเป็น “วน” และในภาษาไทยมีหลักนิยมแผลง ว เป็น พ ดังนั้น “วน” จึงแผลงเป็น “พน” อ่านแบบไทยว่า พน กรณีมีคำว่า “รัต” มาสมาสข้างท้ายเป็น “พนรัต” อ่านว่า พน-นะ-รัด (มีเสียง -นะ- ด้วย)
คำว่า “สมเด็จพระพนรัต” นี่เองที่คนไม่คุ้นบาลี และไม่ได้นึกถึงหลักนิยมภาษาไทย มองพลาดตาเผลอ เห็น “พน” เป็น “นพ” แล้วสะกดขั้นแรกเป็น “สมเด็จพระนพรัต” และเพราะคุ้นกับคำว่า “นพรัตน์” ที่แปลว่า แก้วเก้าประการ ก็เลยสะกดก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เป็น “สมเด็จพระนพรัตน์” โดยไม่ได้เฉลียวใจว่าสะกดผิด คงเข้าใจดิ่งไปว่า ชื่อพระมหาเถระรูปนี้คือ “สมเด็จพระนพรัตน์” หมายถึง แก้วเก้าประการ
“สมเด็จพระนพรัตน์” คำวิบัติมีที่มาดังว่านี้
โปรดช่วยกันจำและบอกกล่าวต่อ ๆ กันไปว่า พระมหาเถระรูปนี้ชื่อ “สมเด็จพระพนรัต” ไม่ใช่ “สมเด็จพระนพรัตน์”
“-พระพนรัต”
ไม่ใช่ “-พระนพรัตน์”
“พน”
ไม่ใช่ “นพ”
ความหมายของศัพท์:
(๑) “วัน” หรือ “พน”
เขียนแบบบาลีเป็น “วน” อ่านว่า วะ-นะ รากศัพท์มาจาก วนฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา, ส่งเสียง) + อ (อะ) ปัจจัย
: วนฺ + อ = วน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เสพสุขแห่งเหล่าสัตว์” (2) “ที่เป็นที่ส่งเสียงแห่งเหล่าสัตว์” (3) “ที่อันผู้ต้องการวิเวกเสพอาศัย”
“วน” นักเรียนบาลีนิยมแปลกันว่า “ป่า”
คำว่า “ป่า” ในภาษาไทยมักรู้สึกกันว่าเป็นสถานที่รกทึบ มีอันตรายจากสัตว์ป่า และเป็นสถานที่น่ากลัว
คำว่า “วน” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ -
(1) สถานที่อันน่ารื่นรมย์และเป็นที่เล่นกีฬา (as a place of pleasure & sport) : wood = ป่าไม้
(2) สถานที่มีอันตรายและน่าสะพรึงกลัว (as well as of danger & frightfulness) : jungle = ไพรสณฑ์
(3) สถานที่อาศัยของนักบวช มีชื่อเสียงในทางวิเวก (as resort of ascetics, noted for its loneliness) : forest = ป่าดงพงไพร
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า -
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วน : (คำนาม) อรัณย์, ป่า; น้ำ; ที่อยู่, ที่อาศรัย, บ้าน, เรือน; น้ำตก; a forest, a wood, a grove; water; a residence, a dwelling or abode, a house; a cascade or waterfall.”
ในที่นี้ภาษาไทยสะกดเป็น “วัน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“วัน ๓ : (คำนาม) ป่าไม้, ดง, เช่น อัมพวัน คือ ป่ามะม่วง. (ป. วน).”
และแผลง “วน” เป็น “พน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“พน, พน- : (คำนาม) ป่า, พง, ดง. (ป., ส. วน).”
(๒) “รัต”
เขียนแบบบาลีเป็น “รต” อ่านว่า ระ-ตะ รากศัพท์มาจาก รมฺ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ) + ต ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (รมฺ > ร)
: รมฺ + ต = รมต > รต แปลตามศัพท์ว่า “ยินดีแล้ว” หมายถึง
ยินดี, ตั้งใจ, เอาใจจดจ่อ (delighting in, intent on, devoted to)
“รต” เป็นคำกริยาที่เรียกว่า “กิริยากิตก์” และใช้เป็นคุณศัพท์ได้ด้วย
“รต” ในที่นี้เขียนแบบไทยเป็น “รัต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“รัต ๑ : (คำกริยา) ยินดี, ชอบใจ, มักใช้ประกอบท้ายสมาส เช่น วันรัต = ผู้ยินดีในป่า. (ป., ส. รต).”
(๓) “รัตน์”
บาลีเป็น “รตน” อ่านว่า ระ-ตะ-นะ รากศัพท์มาจาก -
(1) รติ (ความยินดี) + ตนฺ (ธาตุ = ขยาย, แผ่ไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลบ ติ ที่ รติ (รติ > ร)
: รติ + ตนฺ = รติตน + ณ = รติตนณ > รติตน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายความยินดี” คือเพิ่มความยินดีให้
(2) รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ตน ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (รมฺ > ร)
: รมฺ + ตน = รมตน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นที่ชื่นชอบแห่งผู้คน”
(3) รติ (ความยินดี) + นี (ธาตุ = นำไป) + อ ปัจจัย, ลบ อิ ที่ รติ (รติ > รต), ลบสระที่ธาตุ (นี > น)
: รติ + นี = รตินี + อ = รตินี > รตนี > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่นำไปสู่ความยินดี”
(4) รติ (ความยินดี) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + อ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ รติ เป็น อะ (รติ > รต), ลบ ช ต้นธาตุ (ชนฺ > น)
: รติ + ชนฺ = รติชนฺ + อ = รติชน > รตชน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยังความยินดีให้เกิดขึ้น”
“รตน” ในภาษาไทยเขียน “รัตน-” (รัด-ตะ-นะ- กรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “รัตน์” (รัด) “รัตนะ” (รัด-ตะ-นะ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“รัตน-, รัตน์, รัตนะ : (คำนาม) แก้วที่ถือว่ามีค่ายิ่ง เช่น อิตถีรัตนะ คือ นางแก้ว หัตถิรัตนะ คือ ช้างแก้ว; คน สัตว์ หรือสิ่งของที่ถือว่าวิเศษและมีค่ามาก เช่น รัตนะ ๗ ของพระเจ้าจักรพรรดิ ได้แก่ ๑. จักรรัตนะ-จักรแก้ว ๒. หัตถิรัตนะ-ช้างแก้ว ๓. อัสสรัตนะ-ม้าแก้ว ๔. มณิรัตนะ-มณีแก้ว ๕. อิตถีรัตนะ-นางแก้ว ๖. คหปติรัตนะ-ขุนคลังแก้ว ๗. ปริณายกรัตนะ-ขุนพลแก้ว; ของประเสริฐสุด, ของยอดเยี่ยม, เช่น รัตนะ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วอันประเสริฐสุดของพุทธศาสนิกชน; ใช้ประกอบคําอื่นหมายถึงยอดเยี่ยมในพวกนั้น ๆ เช่น บุรุษรัตน์ นารีรัตน์ รัตนกวี. (ป. รตน; ส. รตฺน).”
ย้ำ :
“สมเด็จพระพนรัต” ไม่ใช่ “สมเด็จพระนพรัตน์”
“-พระพนรัต” ไม่ใช่ “-พระนพรัตน์”
“พน” ไม่ใช่ “นพ”
“พน” แปลว่า ป่า
“นพ” แปลว่า เก้า (บางกรณีแปลว่า ใหม่)
ในที่นี้เป็น “พน” ไม่ใช่ “นพ”
“สมเด็จพระพนรัต” หมายถึง พระผู้ยินดีในการอยู่ป่า
ไม่ใช่ “สมเด็จพระนพรัตน์”
..............
ดูก่อนภราดา!
: สลับคำ ความหมายก็พิกล
: สลับคน งานก็พิการ
[full-post]
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ