ทองย้อย แสงสินชัย
#บาลีวันละคำ (4,290)
ทิฏฐิ ทิษฐิ ทิฐิ
อย่าเอาทิฐิมาใช้ในการเขียน
ทั้ง 3 คำที่ยกขึ้นตั้งไว้นั้น คำในภาษาบาลีสะกดเป็น “ทิฏฺฐิ” มี ฏ ปฏัก เป็นตัวสะกด และมีจุดใต้ ฏ ปฏักด้วย อ่านว่า ทิด-ถิ
“ทิฏฐิ” รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ติ ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ, แปลง ติ เป็น ฏฺฐิ
: ทิสฺ + ติ = ทิสฺติ > ทิติ > ทิฏฺฐิ แปลตามศัพท์ว่า “ความเห็น” หมายถึง ความคิดเห็น, ความเชื่อ, หลักลัทธิ, ทฤษฎี, การเก็ง, ทฤษฎีที่ผิด, ความเห็นที่ปราศจากเหตุผลหรือมูลฐาน (view, belief, dogma, theory, speculation, false theory, groundless or unfounded opinion)
ในภาษาธรรม ถ้าพูดเฉพาะ “ทิฏฺฐิ” จะหมายถึง ความเห็นผิด
ถ้าต้องการชี้เฉพาะ จะมีคำบ่งชี้นำหน้า คือ
“มิจฺฉาทิฏฺฐิ” = ความเห็นผิด
“สมฺมาทิฏฺฐิ” = ความเห็นถูก
บาลี “ทิฏฺฐิ” สันสกฤตเป็น “ทฤษฺฏิ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ -
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ทฤษฺฏิ : (คำนาม) จักษุส, จักษุ; ทรรศน, การดู, การเห็น; พุทธิ, โพธ; แววหรือสายตา, อักษิดารา; รูป, อากฤติ, อาการ; the eye; sight, seeing; knowledge, wisdom; the sight of the eye, the pupil; aspect.”
“ทฤษฺฏิ” ในสันสกฤต เราเอามาใช้ในภาษาไทยเป็น “ทฤษฎี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“ทฤษฎี : (คำนาม) ความเห็น; การเห็น, การเห็นด้วยใจ; ลักษณะที่คิดคาดเอาตามหลักวิชา เพื่อเสริมเหตุผลและรากฐานให้แก่ปรากฏการณ์หรือข้อมูลในภาคปฏิบัติ ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างมีระเบียบ. (ส.; ป. ทิฏฺฐิ). (อ. theory).”
บาลี “ทิฏฺฐิ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกเขียนเป็น “ทิฐิ” แต่คงอ่านว่า ทิด-ถิ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“ทิฐิ : (คำนาม) ความเห็น เช่น สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ มิจฉาทิฐิ ความเห็นผิด; ความอวดดื้อถือดี เช่น เขามีทิฐิมาก. (ป. ทิฏฺฐิ; ส. ทฺฤษฺฏิ).”
อภิปรายขยายความ :
“ทิฐิ” คำนี้ เมื่อใช้ในภาษาธรรม มีผู้นิยมสะกดตามรูปคำเดิม ไม่ตัดตัวสะกด คือเขียนเป็น “ทิฏฐิ” (ไม่มีจุดใต้ ฏ ปฏัก)
มีปัญหาว่า เมื่อพจนานุกรมฯ สะกดคำนี้เป็น “ทิฐิ” (ไม่มี ฏ) และผู้อธิบายธรรมะสะกดคำนี้เป็น “ทิฏฐิ” (มี ฏ) โดยอ้างว่าเป็นศัพท์วิชาการ (technical term) ประชาชนทั่วไปเมื่อจะเขียนคำนี้ ควรจะสะกดเป็น “ทิฐิ” หรือ “ทิฏฐิ”
ผู้เขียนบาลีวันละคำมีความเห็นดังนี้ -
(๑) ในที่ซึ่งต้องใช้ศัพท์วิชาการทางธรรมะโดยเฉพาะ เช่น -
“ทิฏฐิวิบัติ” (ความเห็นคลาดเคลื่อน ผิดธรรมผิดวินัย)
“ทิฏฐิวิสุทธิ” (ความหมดจดแห่งทิฐิ คือ ความรู้เข้าใจมองเห็นนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง)
“ทิฏฐิสามัญญตา” (มีความเห็นถูกต้องดีงามเสมอกันกับเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน)
จะสะกดเป็น “ทิฏฐิ” (มี ฏ) ก็ได้
(๒) ในที่ซึ่งเป็นถ้อยคำธรรมดาทั่วไป เช่นพูดว่า “เขามีทิฐิมาก” “มีทิฐิมานะกันเหลือเกิน” ควรสะกดเป็น “ทิฐิ” (ไม่มี ฏ) ตามพจนานุกรมฯ
ถ้าไปสะกดเป็น “เขามีทิฏฐิมาก” “มีทิฏฐิมานะกันเหลือเกิน” ดังนี้ ถือว่าเกินขอบเขตของศัพท์วิชาการ
แถม :
คำว่า “ทิษฐิ” ที่ยกขึ้นมาเข้าชุดกันด้วยนั้น เนื่องจากผู้เขียนบาลีวันละคำไปพบคำที่ท่านผู้หนึ่ง-ซึ่งถ้าออกชื่อก็จะมีคนร้อง “โอ้โฮ” กันไม่น้อยทีเดียว-ท่านสะกดอย่างนี้ ไม่ใช่เพราะเผลอไป แต่เห็นได้ชัดว่าตั้งใจสะกดเพราะท่านเข้าใจว่าสะกดอย่างนี้ถูกต้อง
จึงได้คติว่า ความเคยชิน หนึ่ง ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องหมั่นเปิดพจนานุกรม หนึ่ง ถ้าครอบงำใครเข้าแล้ว ย่อมทำให้สะกดคำผิด ๆ ได้ง่ายโดยไม่เฉลียวใจ หรือบางทีอาจจะเถียงเอาด้วยว่า “ฉันเขียนของฉันอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร คุณเป็นใครมาบอกว่าฉันเขียนผิด”
โปรดช่วยกันรับรู้ว่า “ทิษฐิ” เป็นคำที่สะกดผิด อย่าใช้ตาม
..............
ดูก่อนภราดา!
: ทิฐิมนุษย์
: ยากที่สุดที่จะแก้
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ