การุณยฆาตจัดเป็นปาณาติบาต?
การุณยฆาต (อังกฤษ: euthanasia) เป็นการยุติชีวิตโดยเจตนาเพื่อให้พ้นจากความเจ็บปวดทรมาน
ปัจจุบัน มีการสนทนากันถึงเรื่องนี้ว่า "การุณยฆาตเป็นบาปหรือไม่? จัดเป็นปาณาติบาตหรือไม่?" ซึ่งในหลักฐานพระไตรปิฎกและอรรถกถา ก็มีกล่าวถึงไว้ว่า
เตน โข ปน สมเยน อญฺญตโร ภิกฺขุ คิลาโน โหติ. ตสฺส ภิกฺขู #การุญฺเญน มรณวณฺณํ สํวณฺเณสุํ. โส ภิกฺขุ กาลมกาสิ. เตสํ กุกฺกุจฺจํ อโหสิ 'กจฺจิ นุ โข มยํ ปาราชิกํ อาปตฺตึ อาปนฺนาติ. อถ โข เต ภิกฺขู ภควโต เอตมตฺถํ อาโรเจสุํ. “อาปตฺตึ ตุมฺเห ภิกฺขเว อาปนฺนา ปาราชิกนฺติ.
(วิ.มหาวิ.๑/๑๘๐/๑๐๘)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุทั้งหลาย #เกิดความกรุณา (สงสาร) ได้พรรณนาคุณแห่งความตายให้ท่านฟัง ท่านมรณภาพ ภิกษุเหล่านั้นเกิดความกังวลใจว่า "พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ?" จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติปาราชิก"
การุญฺเญนาติ เต ภิกฺขู ตสฺส มหนฺตํ เคลญฺญทุกฺขํ ทิสฺวา การุญฺญํ อุปฺปาเทตฺวา "สีลวา ตฺวํ กตกุสโล กสฺมา มียมาโน ภายสิ, นนุ สีลวโต สคฺโค นาม มรณมตฺตปฏิพทฺโธเยวา"ติ เอวํ #มรณตฺถิกาว หุตฺวา มรณตฺถิกภาวํ อชานนฺตา มรณวณฺณํ สํวณฺเณสุํ.
โสปิ ภิกฺขุ เตสํ สํวณฺณนาย อาหารุปจฺเฉทํ กตฺวา อนฺตราว กาลมกาสิ. ตสฺมา อาปตฺตึ อาปนฺนา.
(วิ.อฏฺ.๑/๑๘๐/๕๐๓)
คำว่า เกิดความกรุณา คือ ภิกษุเหล่านั้น เห็นความทุกข์เพราะอาพาธอย่างสาหัสของภิกษุนั้นแล้ว เกิดความกรุณาขึ้น #ทั้งเป็นผู้มีความประสงค์จะให้ตายด้วย แต่ไม่รู้ตัวว่าตนเองก็มีความประสงค์จะให้ตาย จึงได้พรรณนาคุณความตายอย่างนี้ว่า "ท่านเป็นผู้มีศีล ได้ทำกุศลไว้แล้ว ทำไมเมื่อจะตายจึงได้กลัวเล่า ธรรมดาว่า สวรรค์ของผู้มีศีล ก็เกี่ยวแค่เพียงความตายเท่านั้น มิใช่หรือ?"
ภิกษุแม้นั้นก็ได้ตัดอาหารเพราะการพรรณนาคุณความตายของภิกษุเหล่านั้น แล้วก็มรณภาพไปในระหว่างนั้นเอง เพราะเหตุนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงต้องอาบัติ
โวหารวเสน ปน วุตฺตํ 'การุญฺเญน มรณวณฺณํ สํวณฺเณสุนฺติ. (วิ.อฏฺ.๑/๑๘๐/๕๐๓)
แต่ท่านกล่าวโดยเนื่องด้วยโวหารว่า "ภิกษุทั้งหลาย เกิดความกรุณา ได้พรรณนาคุณแห่งความตาย"
โวหารวเสนาติ ปุพฺพภาคโวหารวเสน, มรณาธิปฺปายสฺสสนฺนิฏฺฐาปกเจตนากฺขเณ กรุณาย อภาวโต การุญฺเญน ปาเส พทฺธสูกรโมจนํ วิย น โหตีติ อธิปฺปาโย.
(วิมติ.๑/๑๘๐/๓๐๐)
คำว่า โดยเนื่องด้วยโวหาร คือ โดยเนื่องด้วยโวหารในส่วนเบื้องต้น (ในที่นี้คือ มีความกรุณาเป็นไปก่อนหน้า) อธิบายว่า ไม่ได้มีความกรุณา (อย่างเดียว) เหมือนเรื่องภิกษุเกิดความกรุณาแล้วปล่อยสุกรซึ่งติดบ่วง #เพราะในขณะแห่งเจตนาอันให้สำเร็จความประสงค์จะให้ตายไม่ได้มีความกรุณา
สรุปว่า "การุณยฆาต" นั้น #เป็นการฆ่าที่มีกรุณาเกิดขึ้นก่อนหน้า จึงจัดเป็นปาณาติบาต ตามหลักฐานดังกล่าวมานี้ และเป็นบาปอย่างแน่นอน เพราะในขณะมีเจตนาที่จะให้ตาย (วธกเจตนา) ไม่ได้มีความกรุณาเกิดร่วมด้วยแต่อย่างใด
พระมหาภาคภูมิ สีลานนฺโท
แสดงความคิดเห็น
ข้อมูลความคิดเห็นของท่าน จะถูกตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ฯ